อำนาจเจริญ เปิดงานประเพณีแห่ยักษ์คุหนึ่งเดียวในโลกที่ อำเภอชานุมาน รับนักท่องเที่ยวร่วมสืบสานตำนานยักษ์คุ 3 - 5 มีนาคม 2566 นี้

วันนี้ ( 3 มีนาคม 2566) เวลา 17.30 น. นายชนาส ชัชวาลวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธานเปิดงานประเพณีแห่ยักษ์คุจังหวัดอำนาจเจริญ ประจำปี 2566 ณ บริเวณหน้าเทศบาลตำบลชานุมาน อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีส่วนราชการ ภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่มาร่วมชมขบวนแห่ยักษ์คุ ที่น่าตื่นตาตื่นใจ จำนวน 9 ขบวน พร้อมด้วยนางรำของแต่ละขบวนที่แต่งกายด้วยชุดอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่สวยงาม วาดลวดลายฟ้อนรำที่ในท่วงท่าที่อ่อนช้อยงดงามและสนุกสนานตามแบบฉบับของคนอีสาน และร่วมพิธีเปิดงานชมการแสดงแสงสีเสียงตำนานยักษ์คุพร้อมร่วมวงพาแลงลิ้มรสชาติอาหารอีสานลุ่มน้ำโขงแบบแซ่บถึงใจ

จังหวัดอำนาจเจริญกำหนดจัดงานประเพณีแห่ยักษ์คุจังหวัดอำนาจเจริญ ประจำปี 2566 ในระหว่างวันที่ 3 – 5 มีนาคม 2566 ณ บริเวณหน้าเทศบาลตำบลชานุมาน อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นงานประเพณีแห่ยักษ์ซึ่งมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดงานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประเพณีวัฒนธรรมของจังหวัดอำนาจเจริญให้มีความโดดเด่นน่าสนใจมากยิ่งขึ้นและเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดอำนาจเจริญ อีกทั้งเป็นการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้เดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ทำให้ประชาชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ภายในงานมีกิจกรรมประกอบด้วย ขบวนแห่ยักษ์คุ การประกวดขบวนแห่ยักษ์และธิดายักษ์ การแสดงแสงสีเสียง ตำนานยักษ์คุชานุมานหมู่บ้านยักษ์ กิจกรรมพาแลง การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กิจกรรมปั่นจักรยานชมเมืองเล่าเรื่องชานุมาน การแข่งขันตกปลานานาชาติกลางแม่น้ำโขง ณ บริเวณแก่งหินขัน ตำบลโคกสาร อำเภอชานุมาน การประกวดธิดาชานุมาน การประกวดเต้นส้มตำลีลา ประกวดเต้นยักคุแด๊นซ์ การแสดงศิลปินพื้นบ้านราชินีหมอลำแห่งลำน้ำโขง (คุณแม่อังคนางค์ คุณไชย) การแสดงนักร้องชื่อดัง หนุ่มมีซอ นอกจากนี้ยังมี ตลาดโบราน การออกร้านจำหน่ายสินค้า OTOP ผลิตภัณฑ์ชุมชนของดีเมืองอำนาจ สินค้าราคาถูก ยักษ์คุแลน (เครื่องเล่น สวนสนุก) ร้านขายสินค้า และกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย

เชิญชวนนักท่องเที่ยวมาสัมผัสความงดงามของศิลปวัฒนธรรมหนึ่งเดียวในโลกตำนานยักษ์คุจังหวัดอำนาจเจริญ และนอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถเดินทางท่องเที่ยวชมความงดงามของแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติในจังหวัดอำนาจเจริญ เช่น ชิมอาหารพื้นถิ่นที่ขึ้นชื่อหลากหลายเมนูของจังหวัดอำนาจเจริญ ลงเล่นน้ำแก่งคันสูง และเดินทางไหว้พระขอพรตามวัดและสถานที่สำคัญต่างๆ ในจังหวัดอำนาจเจริญ เช่น ไหว้พระมงคลมิ่งเมือง วัดถ้ำแสงเพชร พระเจ้าใหญ่ลือชัย พระเหลาเทพนิมิต เจดีย์หินพันล้านก้อนภูพนมดี เป็นต้น

สำหรับประเพณีแห่ยักษ์คุตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง เขตประเทศสปป.ลาว ตรงกันข้ามกับที่ว่าการอำเภอชานุมาน (หลังเก่า) มีปราสาทหินและมียักษ์ตนหนึ่งมานั่งลงกราบไว้บริเวณใกล้ฝั่งเขตไทย รอยคุกเข่า และรอยนั่งปรากฏเป็นบึงเล็กๆ อยู่ ชาวบ้านจึงตั้งชื่อชุมชนว่า บ้านยักษ์คุ "คุ" แปลว่า คุกเข่า ต่อมาเมื่อ 90 ปี ที่ผ่านมาทางราชการของลาวได้ส่งนักศึกษาเข้ามาศึกษาวิชาการในไทย เมื่อจบก็กลับประเทศ ในขณะนั้นเป็นเวลาที่ฝรั่งเศสเข้ายึดครองประเทศลาวบุคคลนี้จึงเกิดความไม่พอใจฝรั่งเศส จึงสร้างบ้านเรือนขึ้นที่บ้านยักษ์คุ และขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และได้บรรดาศักดิ์เป็น "พระประจญจาตุรงค์" และตั้งชื่อชุมชนว่า "เมืองชานุมารมณฑล" ขึ้นตรงต่อมณฑลอุบลราชธานี

ยักษ์คุเป็นความเชื่อตามตำนานปรัมปราชาวชานุมาน เกี่ยวกับเรื่องทศกัณฐ์ พระลักษมณ์ พระราม อัตลักษณ์ท้องถิ่นที่มีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย ยังมีหลักฐานปรากฏบริเวณริมแม่น้ำโขง อ.ชานุมาน เป็นบ่อน้ำ 3 บ่อ เชื่อกันว่าเกิดจากการกระทำของ ยักษ์คุ หรือ ยักษ์อยู่ในท่านั่งคุกเข่าจนกลายเป็นวัฒนธรรมโดดเด่นของจังหวัดอำนาจเจริญ จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วมค้นหาและศึกษาประวัติศาสตร์ตำนานความเป็นมาของยักษ์คุหนึ่งเดียวในโลกที่จังหวัดอำนาจเจริญ ในงานประเพณีแห่ยักษ์คุจังหวัดอำนาจเจริญ ประจำปี 2566 ในระหว่างวันที่ 3 – 5 มีนาคม 2566 ณ บริเวณหน้าเทศบาลตำบลชานุมาน อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar